วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2559

landmark BKK


             เมื่อเราพูดกันใน''ภาษาพูดประจำวัน''เเล้ว คำว่า landmark นั้นเราหมายถึง สถานที่หรือตึกหรือสิ่งก่อสร้าง ที่เป็น''สัญญลักษณ์''ของพื้นที่หรือเมืองหนึ่งๆ หรือประเทศหนึ่งๆ เช่น เดิมสมัยก่อนสักสามสี่สิบปีก่อน ยังไม่ค่อยมีตึกสูงในกรุงเทพฯนั้น โรงเเรมดุสิตธานี ก็ถือว่าเป็นlandmarkของกรุงเทพฯเมืองฟ้า ปัจจุบันหากจะถามก็คงมีเสาชิงช้าที่ติดอันดับว่าถือเป็นlandmark แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างดังนี้




เสาชิงช้า
        เสาชิงช้า เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้า ในพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวายของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยทั่วไปหมายถึงเสาชิงช้าที่ตั้งอยู่หน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม และลานหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ลานคนเมือง) ใกล้กับเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ในพื้นที่แขวงเสาชิงช้าและแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของกรุงเทพมหานคร แม้พิธีโล้ชิงช้าได้เลิกไปแล้วตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก็ตาม

       นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังมีเสาชิงช้าอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ หน้าหอพระอิศวร เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีการประกอบพิธีโล้ชิงช้ามาแต่โบราณเช่นกัน แต่ได้เลิกไปก่อนที่จะมีการก่อสร้างขึ้นใหม่ในภายหลัง โดยจำลองแบบมาจากเสาชิงช้าที่กรุงเทพมหานคร

        เสาชิงช้าที่กรุงเทพมหานครแห่งนี้ มีลักษณะเป็นเสาชิงช้าขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนแท่นหินขนาดใหญ่ สูง 21.15 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางฐานกลมประมาณ 10.50 เมตร ฐานกลมก่อเป็นฐานปัทม์ทำด้วยหินล้างสีขาว พื้นบนปูกระเบื้องดินเผาสีแดง มีบันได 2 ขั้น ทั้ง 2 ด้าน ตามแนวโค้งของฐานติดแผ่นจารึกประวัติเสาชิงช้า เสาไม้แกนกลางคู่และเสาตะเกียบ 2 คู่ เป็นเสาหัวเม็ด ล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลม โครงยึดหัวเสาทั้งคู่แกะสลักอย่างสวยงาม กระจังและหูช้างไม้เป็นลวดลายไทย ทั้งหมดทาสีแดงชาด ติดสายล่อฟ้าจากลวดลายกระจังด้านบนลงดิน

           กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 นับตั้งแต่สร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2327 จนถึงการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดซึ่งเสาชิงช้าคู่เดิมถูกถอดเปลี่ยนเมื่อปี พ.ศ. 2549 เสาชิงช้ามีอายุรวมประมาณ 222 ปี




สะพานพระราม 8 

       สะพานพระราม 8  เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 13 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวสายทางเชื่อมต่อกับทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณโรงงานสุราบางยี่ขัน (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมูลนิธิชัยพัฒนาในปัจจุบัน) เขตบางพลัด บรรจบกับปลายถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้กับธนาคารแห่งประเทศไทย เขตพระนคร สะพานนี้เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 พระองค์มีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอีก 1 แห่ง เพื่อบรรเทาการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้ารองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี และเป็นจุดเชื่อมต่อโครงการพระราชดำริตามแนวจตุรทิศ

          สะพานพระราม 8 จะช่วยเชื่อมการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีให้สะดวกสบายขึ้น ซึ่งจะช่วยระบายรถบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าได้ถึง 30% และบนสะพานกรุงธน อีก 20% และยังสามารถลดมลพิษทางอากาศบริเวณในเมือง โดยเริ่มเปิดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 เวลา 7:00 น




อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ


            อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อยู่ในกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 5.0 ของถนนพหลโยธิน และอยู่กึ่งกลางระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1ถนนราชวิถี และถนนพญาไท โดยรอบของอนุสาวรีย์มีถนนรอบ ๆ เป็นวงเวียน บริเวณเดิมของที่แห่งนี้ แต่ก่อนเคยเป็นสี่แยกเรียกกันว่า "สี่แยกสนามเป้า" แต่ในปัจจุบันอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของกรุงเทพฯ มีรถโดยสารให้บริการหลายเส้นทาง ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า และรถตู้ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 และจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้กระทำพิธีเปิดวันเดียวกันในอีก 1 ปีต่อมา สถาปนิกผู้ออกแบบคือ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจและพลเรือนที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเรื่องดินแดนในสงครามอินโดจีน ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 160 คน








https://th.answers.yahoo.com
https://th.wikipedia.org/wiki/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น